คืนนี้ห้ามพลาด! ชี้เป้าจุดสังเกตการณ์ ‘ดาวเสาร์’ โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบปี สว่างเด่นชัด ก่อนจะเห็นไร้วงแหวน ด้วยตาเปล่ายาวนาน ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
สร้างความฮือฮา หลัง ทาง “NARIT” หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่า “ดาวเสาร์” จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง
ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 1,295 ล้านกิโลเมตร Ffpในวันดังกล่าว จะสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปรากฏสว่างเด่นชัดตลอดทั้งคืน โดยปรากฏทางทิศตะวันออก
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ระนาบวงแหวนของดาวเสาร์จะเอียงทำมุมกับโลกประมาณ 4 องศา เป็นผลให้มองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้ไม่ชัดเจนนัก และมุมเอียงจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ
จนกระทั่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 จะเป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด ผู้สังเกตบนโลกจึงมองเห็นดาวเสาร์ “ไร้วงแหวน” ซึ่งมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ ใช้เวลาประมาณ 29.4 ปี ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ
ส่งผลให้ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เมื่อมองจากโลกในทุก ๆ 15 ปี เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจในการสังเกตการณ์ดาวเสาร์ ทำให้เราได้เห็นความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี ทาง NARIT เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ดังนี้
– อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา