“หลวงพ่อกลั่น ธัมมโชโต” หรือ พระอุปัชฌาย์กลั่น วัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิชื่อดังในอดีต
เกียรติคุณความแก่กล้าในสรรพวิทยาคม พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่ปรารถนา
โดยเฉพาะเหรียญเสมารุ่นแรก เรียกว่า “เหรียญเสมา พิมพ์หลังขอเบ็ด” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2469 เพื่อบูรณะพระอุโบสถที่ชำรุดทรุดโทรม
ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหู ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยอักขระ “นะโม พุทธายะ” ตำหนิที่ควรพิจารณา คือ ด้านหน้าตาคมชัดลึก ปลายหาง “ญ” ที่ชื่อวัดแตกเป็น 2 แฉก กระหนกด้านบนขวาของเหรียญ ใต้เลข 6 มีเนื้อเกินออกมา
ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ ด้านล่างเขียนว่า “ที่รฤกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ” เกือบยอดยันต์ตรงกลางเป็นตะขอ ที่มาของชื่อพิมพ์ “ขอเบ็ด” ยันต์ด้านหน้าคำว่า “ปฏิสังขรณ์” มีรอยเส้นแตก ยันต์หลังคำว่า “อุโบสถ” มีเส้นซ้อนมองดูคล้ายสระอิ
จำนวนสร้างทั้งหมดเพียง 3,137 เหรียญ มีเนื้อเงินองค์ทอง 12 เหรียญ เนื้อเงินองค์นาก 25 เหรียญ เนื้อเงิน 100 เหรียญ และเนื้อทองแดง 3,000 เหรียญ
ปัจจุบันเหรียญทองแดงเช่าหากันเป็นหลักแสน หากสภาพสวย ราคาอาจแตะไปถึงหลักล้านได้
ทั้งที่เมื่อแรกออกนั้นราคาแค่เพียง 1 บาทเท่านั้น
เกิดราว พ.ศ.2390 ปีมะแม ต.อรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบครัวฐานะยากจน
เดิมมีชื่อว่า “อู๊ด” แต่บิดาเห็นว่าเป็นเด็กเฉลียวฉลาดและกล้าหาญ จึงเปลี่ยนให้ใหม่ว่า “กลั่น”
เรียนหนังสือและวิชาช่างในสำนักวัดประดู่ทรงธรรม กับ “หลวงพ่อม่วง” ซึ่งเก่งทางกรรมฐาน และเคยทำตะกรุดพิชัยสงครามถวายรัชกาลที่ 5
เมื่อเป็นหนุ่มศึกษาวิชากระบี่กระบองและอาวุธไทยโบราณทุกชนิด ตั้งแต่ดาบเดี่ยว ดาบสองมือ หอก แหลน หลาว ง้าว โตมร ไปจนถึงมวยไทย
เวลารำกระบี่กระบองหรือรำกลอง ได้รับเสียงชื่นชมว่าสวยยิ่งนัก เพราะเคยเล่นโขนเป็นตัวหนุมานในโรงของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มาก่อน
เป็นผู้รักการต่อสู้ เป็นนักเลงจริง เป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไป แต่ครั้นเมื่อบิดามารดา นำไปอุปสมบท ก็ละวางอาวุธและความเป็นนักเลงขมังอาคม เป็นพุทธบุตรได้อย่างประเสริฐ อยู่ในผ้าเหลืองจนมรณภาพ
อุปสมบทเมื่ออายุ 27 ปี ที่วัดโลกยสุทธาศาลาปูน โดยมีพระญาณไตรโลก (สะอาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกุศลธรรมธาดา วัดขุนญวน กับพระอธิการชื่น วัดพระญาติการาม เป็นพระคู่สวด
ติดตามพระอธิการชื่น มาจำพรรษาที่วัดพระญาติ ร่ำเรียนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เวลาออกพรรษาก็ถือธุดงค์เป็นวัตร ไม่ค่อยอยู่ติดวัด ใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาวัดเสียครั้งหนึ่ง
แม้ได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็ยังออกเดินธุดงค์ จนกระทั่งอายุมากขึ้นจึงได้หยุด
ความรู้ของท่านทั้งด้านอาวุธโบราณและมวยไทยไปจนถึงวิทยาคม เล่าเรียนมาจากหลวงพ่อเฒ่ารอด หรือหลวงพ่อเฒ่ารอดเสือ วัดประดู่ในทรงธรรม พระอาจารย์เดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
ลูกศิษย์ของหลวงพ่อกลั่นที่ได้ศึกษาจากตำราสำนักนี้ เช่น หลวงปู่สี วัดสะแก และอาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ฯลฯ
เมื่อยังแข็งแรงอยู่นั้น สำนักวัดพระญาติการาม ผลิตนักกระบี่กระบองอันมีชื่อก้อง
วัดพระญาติการาม หรือชื่อเดิมว่า “วัดพบญาติ” เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองกรุงเก่ามาแต่อดีต แม้สงครามเสียกรุงจะทำให้วัดหยุดความเจริญไปพักหนึ่ง แต่ก็กลับมาเจริญอีกในที่สุด ด้วยบารมีของหลวงพ่อกลั่น
ด้วยรูปลักษณ์เป็นนักเลงโบราณ หน้าตาค่อนข้างดุ พูดจาตรงๆ แรงๆ แต่กอปรด้วยความเมตตายิ่ง ชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น ลิง นก สุนัข แมว กา ไก่ และชะนี สัตว์ทุกชนิดจะเชื่องมาก
ลูกศิษย์ในสมัยนั้นมีทั้งมาเรียนวิทยาคม เรียนกระบี่กระบองป้องกันตัว หรือเรียนกลองยาวเล่นในพิธีบวชนาค สงกรานต์ แห่ผ้าป่าและกฐิน
วิชาเหล่านี้ลงมือสอนด้วยตัวเองทั้งสิ้น
สร้างวัตถุมงคลโด่งดังที่สุด คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2469, เหรียญกลม ปี 2478, เหรียญยันต์ตะกร้อ ปี 2483, เหรียญรุ่นชาตรี ปี 2507 เป็นต้น
วันที่ 21 ก.ค.2477 มรณภาพด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 87 ปี พรรษา 60
เล่ากันว่า ในวันที่จะมรณภาพ อีกานับพันตัวมาออกันทั่ววัด ส่งเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ ครั้นเมื่อสิ้นลมอีกาเหล่านั้นเงียบเสียงเป็นปลิดทิ้ง แล้วโผบินจากไปเป็นกลุ่มๆ ครั้นถึงวันฌาปนกิจรุ่งขึ้นมีการทำบุญอัฐิ อีกาก็กลับมาอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย พวกมันบินมาเกาะที่เชิงตะกอนและลานวัด ก่อนจะบินวนอยู่ 3 รอบ และตั้งแต่วันนั้นไม่มีใครเห็นอีกาที่วัดพระญาติการามอีกเลย.