รู้จัก “พระสมเด็จวัดระฆัง” สุดยอดพระเครื่องตลอดกาล สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ต้นแบบจาก “พระประธานยิ้มรับฟ้า”
พระสมเด็จฯ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์พระประธานใน พระชุดเบญจภาคี ท่านผู้สร้าง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมา
ในปี พ.ศ. 2409 ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม สำหรับมูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯ วัดระฆังนั้น เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องพระพิมพ์ ในครั้งนั้นท่านได้ไปยังวัดเสด็จซึ่งเป็นวัดร้าง และได้พบ “พระซุ้มกอ” พระพิมพ์โบราณ ศิลปะสุโขทัยยุคต้น สร้างประมาณ พ.ศ.1900 จึงได้นำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริที่ว่าจะสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณได้กระทำมา
มวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบด้วย
- ปูนขาวเป็นส่วนใหญ่ (เอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว)
- ผงพุทธคุณ ซึ่งเกิดจากการเขียนอักขระลงบนกระดานชนวนแล้วลบ จากนั้นนำผงที่ได้มาปั้นแล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำๆ โดยเริ่มจากผงปถมัง ผงอิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ผงที่ได้จึงมีอานุภาพสูงสุด
- ส่วนผสมอื่นๆ ได้แก่ ใบลานเผา ดอกไม้แห้ง เศษจีวรพระ และเนื้อพระประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว เพื่อกันการแตกร้าว
กรรมวิธีสร้าง
- นำเอามวลสารผสมแล้วนำมาตำเป็นเนื้อพระสมเด็จ
- ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัดออกเป็นชิ้นๆ (เรียกว่า ชิ้นฟัก)
- นำเนื้อพระสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวน แล้วกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์
- ตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัดดอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสาน
แม่พิมพ์ พระสมเด็จฯวัดระฆัง มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ
1. พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ประธาน) 2. พิมพ์ฐานแซม 3. พิมพ์เจดีย์ 4. พิมพ์ปรกโพธิ์ 5. พิมพ์เกศบัวตูม
การสร้างพระสมเด็จแบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้
- ยุคต้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2368 –2390 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367 – 2394)
1. ปี พ.ศ. 2348 สร้างที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ เป็น “พระครูโต”
2. ปี พ.ศ. 2378 สร้างเป็นที่ระลึกในการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระปริยัติธรรม”
3. ปี พ.ศ. 2379 สร้างเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้บริจาคเงินสร้างพระพุทธไสยาสน์
4. ปี พ.ศ. 2381 สร้างเป็นที่ระลึกให้งานทำบุญครบ 51 ปี ขณะดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ พระปริยัติธรรม
5. ปี พ.ศ. 2386 สร้างเป็นที่ระลึกในงานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระราชปัญญาภรณ์”
6. ปี พ.ศ. 2387 สร้างเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้บริจาคเงินบำรุงวัดระฆัง
7. ปี พ.ศ. 2390 สร้างเป็นที่ระลึกในงานทำบุญครบรอบ 60 ปี เป็นที่ “พระเทพกวีศรีวิสุทธินายก”
ซึ่งการสร้างแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก เป็นพิมพ์ใหญ่ และหลายพิมพ์ทรง เป็นพระเนื้อขาวแก่ปูน พิมพ์ใหญ่ไม่มีเส้นกรอบกระจก หรือเส้นบังคับพิมพ์
- ยุคกลาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ. 2399 –2411 (ครองราชย์ พ.ศ. 2394 – 2411)
1. ปี พ.ศ. 2399 สร้างให้โยมพระบิดามารดา เพื่อแทนคุณ ขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระธรรมกิติโสภณ” เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์
2. ปี พ.ศ. 2399 สร้างเป็นที่ระลึกในงานสร้างพระบูชา นามว่า “พระหาพุธพิม”
3. ปี พ.ศ. 2407 สร้างเป็นที่ระลึกในงานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)พรหมรังษี” เป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่
4. ปี พ.ศ. 2409 สร้างในขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี” เริ่มสร้างที่จำนวน 84,000 องค์ตามเจตนารมณ์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยแม่พิมพ์ของช่างทองหลวง “หลวงวิจารณ์เจียรนัย”
5. ปี พ.ศ. 2411 สร้างในขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นพิมพ์ใหญ่อกวี
- ยุคปลาย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2412 –2414 (ครองราชย์ พ.ศ. 2411 – 2453)
1. ปี พ.ศ. 2412 สร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์หลวงวิจารณ์เจียรนัย
2. ปี พ.ศ. 2414 สร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ (ลงรักปิดทอง) สร้างถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต้นแบบพระปางสมาธิ
ตามข้อสันนิษฐานและประวัติความเป็นมาถือว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นต้นแบบจำลองการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ร่วมกับพระต้นแบบทางกำแพงเพชรหรือพระซุ้มกอ
พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ที่กล่าวกันว่า เป็นพระประธานที่สง่างาม สวยงามเป็นที่สุด ทุกคนได้เห็นได้กราบไหว้ขอพรสำเร็จดั่งประสงค์ ด้วยพระพักตร์ที่แย้มพระสรวล ดูอบอุ่นทรงพระเมตตา งดงามโดยแท้
พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก จนปรากฎว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเดินเข้าประตูโบสถ์คราใด พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา